14 กันยายน, 2551

เครื่องมือทำการประมงในพิกัด(1)

เครื่องมือในพิกัด

...............เครื่องมือทำการประมงในพิกัด หมายถึง เครื่องทำการประมงซึ่งระบุชื่อลักษณะหรือวิธีใช้ในกฏกระทรวงและผู้ใช้เครื่องมือต้องได้รับอนุญาติ และเสียเงินอากรตามที่กำหนดไว้

ยอขันช่อ




ชื่อไทย : ยอขันช่อ
ชื่ออังกฤษ : Bug Lift Net
ลักษณะ : เป็นเครื่องมือยอชนิดหนึ่งมีขนาดใหญ่โตกว่ายอธรรมดามาก การยกกว้านขึ้นลงจะอาศัยคานดีด ประกอบด้วยจุดหมุน ทำให้สามารถยกขึ้นโดยแรงของคน ๆ เดียว ลักษณะของเครื่องมือ เช่นเดียวกับยอทั่วไป คือ ประกอบเป็นเนื้ออวนที่มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีคันยอและไม้กว้านใช้ทำการจับสัตว์น้ำ
..........วิธีการใช้จะนำเชือกคร่าวของอวนทั้ง 4 มุมผูกเข้ากับไม้แขวนยอ และกว้านให้ยอวางลงไปบนพื้นโคลนใต้น้ำ สังเกตปลาเข้าก็สาวเชือก ปลายไม้กว้านอีกด้านหนึ่ง กดให้ยอยกขึ้นพ้นน้ำ และทำการผูกเชือกไว้ให้แน่น ไม่ให้ยอตกลงน้ำ จากนั้นใช้สวิงตักสัตว์น้ำที่ตกอยู่ก้นอวน แล้วจึงแก้ปล่อยให้ยอวางลงดังเดิม
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลากระบอก กุ้งเปลือกขาว
แหล่งทำการประมง : บริเวณริมฝั่งของแม่น้ำลำคลองโดยทั่วไป ในน่านน้ำเค็ม กร่อย และจืด



ช้อนสนั่น

ชื่อไทย : ช้อนสนั่น
ชื่ออังกฤษ : Boat Dip Net
ลักษณะ : เครื่องมือชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกันกับช้อนขาคีบแต่ใหญ่กว่ามากใช้ติดกับหัวเรือและมีไม้รองรับคันช้อนเพื่อช่วยลดกำลังให้เบาลง ในขณะที่งัดช้อนขึ้นจากน้ำ ปากช้อนกว้าง 7 – 8 เมตรขอบช้อนตอนเหนือมีด้ามยาวประมาณ 6 เมตรขนาดของช่องตาข่ายของช้อนนั้น 1.50 ซม.
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลาผิวน้ำ
แหล่งทำการประมง : แม่น้ำ ลำคลอง บึง หนอง



ช้อนหางเหยี่ยว

ชื่อไทย : ช้อนหางเหยี่ยว
ชื่ออังกฤษ : Raft Dip Net
ลักษณะ : มีลักษณะคล้ายช้อนสนั่น แต่เครื่องมือนี้ใช้แพเป็นพาหนะ
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลาผิวน้ำ
แหล่งทำการประมง : แม่น้ำ ลำคลอง บึง หนอง



ถุงโพงพาง

ชื่อไทย : ถุงโพงพาง
ชื่ออังกฤษ : Set Bag Net
ลักษณะ : เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้อวนรูปถุง ปากอวนติดตั้งให้การรับสัตว์น้ำที่พัดตามกระแสน้ำเข้าถุงอวน โพงพางหลักเป็นโพงพางที่พบมากที่สุด อวนเป็นรูปถุงปากกว้าง ปากอวนสูงใกล้เคียงกับความลึกของน้ำช่วงขึ้นสูงสุดขนาดประมาณ 4x4 หรือ 8x6 เมตร ความยาวจากปากอวนถึงก้นถุง 20 - 25 เมตร ตัวอวนจะเรียวเล็กลงปากอวนจะวางในทิศทางหันรับกับกระแสน้ำ มักห่างกันตามขนาดปากอวน ราว 4-8 เมตร ด้านบนมีไม้คาดไว้กันไม้หลักเอนเข้าหากัน ปากอวนจะมัดกับเสาหลัก ส่วนตัวอวนจะกดไว้ด้วยไม้กด โดยไม่ใช้ทุ่นและตะกั่วถ่วง ส่วนเนื้ออวนเป็นโพลีเอทธีลีน ที่บริเวณปากจะมีขนาดใหญ่ที่สุด แล้วเล็กลงมาตามลำดับ ส่วนที่เป็นก้นถุงยาว 1.5 - 3 เมตร มักใช้ขนาดตา 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ปลายถุงสามารถเปิดออกได้โดยมัดเชือกไว้ การวางโพงพางจะทำหลายช่องเรียงกันเป็นแถวประมาณ 6 -10 ช่อง ทำได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ในช่วงน้ำขึ้นเต็มที่หรือลงเต็มที่โดยประกอบอวนเข้ากับไม้กดอวน แล้วนำไปผูกกับไม้หลัก แล้วจอดเรือไม้ที่ตำแหน่งก้นถุง รอให้กระแสน้ำพัดสัตว์น้ำเข้าอวนสักพักขึงกู้ก้นอวนขึ้นมา เทสัตว์น้ำออก แล้วมัดก้นถุงวางใหม่ต่อไป โพงพางจะใช้ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1 -6 เมตร และสามารถทำได้ตลอดทั้งปี
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : กุ้ง ปู และปลาที่ชอบอยู่ในเขตน้ำกร่อย
แหล่งทำการประมง : ทะเลสาบ

ไม่มีความคิดเห็น: