02 ตุลาคม, 2551

มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเล

มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเลตามพระราชบัญญัติสงวน
และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535




..........ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 กำหนดให้เต่าทะเลตามบัญชีแนบท้ายตามกฎกระทรวงนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองได้แก่
....................ลำดับที่ 39 เต่ากระ (Erethmochelys imbricata)
....................ลำดับที่ 46 เต่าตนุ (Chelonia mydas)
....................ลำดับที่ 47 เต่าหัวค้อน (Carette carette)
....................ลำดับที่ 54 เต่ามะเฟือง (Dermochelys coreacea)
....................ลำดับที่ 57 เต่าหญ้า หรือเต่าสังกะสี (Lepidochelys olivacea)


เต่ากระ



ชื่อ : เต่ากระ Hawksbill Turtle ( Eretmochelys imbricate )
ลักษณะเด่น : จะงอยปากค่อนข้างแหลมงุ้มคล้ายปากเหยี่ยว เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า มี ๒ คู่ เกล็ดบนกระดองแถวข้างมี จำนวน ๔ เกล็ด ลักษณะเด่นชัด คือเกล็ดบนกระดองมีลวดลายริ้วสีสวยงาม และลักษณะของเกล็ดซ้อนกันเห็นได้ชัด ลักษณะค่อนข้างคล้ายเต่าตนุ

ขนาด : โตเต็มที่ยาวประมาณ ๑๐๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑๒๐ กิโลกรัม ขนาดโตถึงขั้นแพร่พันธุ์ได้ประมาณ ๗๐ เซนติเมตร

อาหาร : เต่ากระอาศัยอยู่ตามแนวปะการัง โดยเฉพาะเมื่อขนาดเล็ก จะอาศัยตาม ชายหาดน้ำตื้น กินสัตว์จำพวกฟองน้ำ หอย และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร

แหล่งที่พบ : แหล่งวางไข่เต่ากระในอ่าวไทย พบที่ เกาะคราม จ.ชลบุรี และพบกระจัดกระจายตามหมู่เกาะต่าง ๆ ทางทะเลอันดามัน รวมทั้งแนวหาดทราย จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต




เต่าตนุ



ชื่อ : เต่าตนุ Green Sea Turtle ( Chelonia mydas )
ลักษณะเด่น : เกล็ดบนส่วนหัวตอนหน้า ( Prefrontal Scale ) มีจำนวน ๑ คู่ เกล็ด บนกระดองแถวข้าง ( Costal Scale ) จำนวน ๔ เกล็ด ลักษณะขอบของเกล็ดจะเชื่อมต่อกัน ไม่ซ้อนกัน สีสันและลวดลายสวยงาม โดยมีกระดองสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายริ้วสีจางกว่ากระจายจากส่วนกลางเกล็ด มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เต่าแสงอาทิตย์

ขนาด : โตเต็มที่ความยาวกระดอง ประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๒๐๐ กิโลกรัม ขนาดโตถึงแพร่พันธุ์ ความยาวประมาณ ๘๐ เซนติเมตร
อาหาร : เต่าตนุเป็นเต่าชนิดเดียวที่กินพืชเป็นอาหาร เมื่อพ้นวัยอ่อนแล้ว อาหารหลัก ได้แก่ พวกหญ้าทะเล และสาหร่ายชนิดต่าง ๆ เต่าตนุในวัยอ่อนจะกินทั้งพืชและเนื้อสัตว์ เป็นอาหาร

แหล่งที่พบ : แหล่งวางไข่เต่าตนุในอ่าวไทย พบที่เกาะคราม จ.ชลบุรี และพบประปรายทางฝั่งอันดามัน ทางชายทะเลตะวันตกของ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต รวมทั้งบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน




เต่าหัวค้อน


ชื่อ : เต่าหัวค้อน Loggerhead Sea Turtle ( Caretta caretta )
ลักษณะเด่น : ลักษณะเด่นทั่ว ๆ ไปคล้ายเต่าหญ้าและเต่าตนุมาก ต่างกันที่เกล็ดบน ส่วนหัวตอนหน้ามี จำนวน ๒ คู่ เท่ากับเต่าหญ้า แต่เกล็ดบนกระดองหลังแถวข้างมีจำนวน ๕ แผ่นซึ่งต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นๆ และรูปทรงของกระดองจะเรียวเล็กลงมาทางส่วนท้าย

อาหาร : กินอาหารจำพวก หอย หอยฝาเดียว และปู เป็นอาหาร

แหล่งวางไข่ : ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบเต่าหัวค้อนขึ้นวางไข่ ในแหล่งวางไข่เต่าทะเลของไทยอีกเลยตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งเข้าใจว่าคงจะสูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทยแล้ว




เต่ามะเฟือง


ชื่อ : เต่ามะเฟือง Leatherback Sea Turtle ( Dermochelys coriacea )
ลักษณะเด่น : เต่ามะเฟืองแตกต่างจากเต่าทะเลชนิดอื่นอย่างชัดเจน ตรงที่มีขนาดใหญ่มากนอกจากนั้นกระดองไม่เป็นเกล็ด มีลักษณะเป็นแผ่นหนังหนามีสีดำ อาจมีสีขาวแต้มประทั่วตัว กระดองเป็นสันนูนตามแนวความยาวจากส่วนหัวถึงส่วนท้าย จำนวน ๗ สัน ไม่มีเกล็ดปกคลุมส่วนหัว จะงอยปากบนมีลักษณะเป็นหยัก ๓ หยัก

ขนาด : ขนาดโตเต็มที่มีความยาวกระดอง ประมาณ ๒๕๐ ซม. น้ำหนักกว่า ๑,๐๐๐ กก. ขนาดที่พบขึ้นมาวางไข่ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ซม.
อาหาร : เต่ามะเฟืองอาศัยอยู่ในทะเลเปิด กินอาหารจำพวกพืชและสัตว์ที่ล่องลอยตามน้ำ โดยอาหารหลักได้แก่ แมงกะพรุน
แหล่งวางไข่ : เต่ามะเฟืองปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก พบขึ้นวางไข่บ้างบริเวณหาดทรายฝั่งอันดามัน จ.พังงา ภูเก็ต และหมู่เกาะต่าง ๆ ปัจจุบันไม่พบเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ในอ่าวไทย



เต่าหญ้า


ชื่อ : เต่าหญ้า Olive Ridley Turtle ( Lepodochelys olivacea )
ลักษณะเด่น : กระดองเรียบ สีเทาอมเขียว สีสันของกระดองไม่สวยงามเท่า เต่ากระและเต่าตนุ ส่วนหัวค่อนข้างโต จะงอยปากมนกว่าเต่าตนุ ที่แตกต่างกันชัดเจน คือ เกล็ดบน ส่วนหัวตอนหน้า มีจำนวน ๒ คู่ และเกล็ดบนกระดองแถวข้างมีจำนวน ๖ - ๘ แผ่น ในขณะที่เต่าตนุและเต่ากระมีเพียง ๕ แผ่น และลักษณะพิเศษของเต่าหญ้า คือกระดอง ส่วนท้องแถวกลาง ( Inframarginal Scale ) มีรูสำหรับขับถ่าย หรือรูเปิดสำหรับประสาท รับความรู้สึก (ยังไม่ทราบระบบการทำงานที่ชัดเจน) จำนวน ๕ คู่

ขนาด : เต่าหญ้าเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดเล็กที่สุดในจำพวกเต่าทะเล ขนาดโตเต็มที่ประมาณ ๗๕ – ๘๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๘๐ กิโลกรัม ขนาดโตเต็มที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ความยาวกระดองประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
อาหาร : เต่าหญ้ากินพวก หอย ปู ปลา และกุ้งเป็นอาหาร จึงอาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั่วไป มีจะงอยปากใหญ่คมและแข็งแรงสำหรับกัดหอยที่มีเปลือกเป็นอาหาร
แหล่งวางไข่ : พบมากทางฝั่งทะเลอันดามัน ตามหาดทรายฝั่งตะวันตกของ จ.ภูเก็ต พังงา และหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ไม่พบเต่าหญ้าขึ้นวางไข่ฝั่งอ่าวไทย



..........มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง (เต่าทะเล) เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 26 ในเรื่องของการอนุรักษ์เต่าทะเล ปัจจุบันทางราชการให้ความสำคัญเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นกรมประมง กรมป่าไม้ และกองทัพเรือ โดยเฉพาะเกาะมันใน จังหวัดระยอง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานกรรมสิทธิ์การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสร้างเป็นศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเล และได้พระราชทานชื่อว่า "โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล" อยู่ในความดูแลของกรมประมง ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา

..........สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล แหลมพันวา ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ได้มีการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ไข่เต่าทะเลขึ้นดำเนินการศึกษาชีววิทยาและติดตามดูการดำรงชีวิตและพฤติกรรมของเต่าทะเล ตลอดจนดำเนินการปล่อยเต่าทะเลลงสู่ทะเล การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ในอันที่จะรักษาพันธุ์เต่าทะเลเอาไว้ตลอดไป ตลอดจนทำการเพาะพันธุ์เต่าทะเลในบ่อเพาะพันธุ์ โดยการเลี้ยงเต่าทะเลจนเจริญเติบโต เพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์และทำการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์เต่าทะเลในบ่อเพาะพันธุ์

..........ในการดำเนินการอนุรักษ์เต่าทะเล ควรคำนึงถึงธรรมชาติและชีววิทยาของเต่าทะเลด้วย โดยเฉพาะในการนำไข่เต่ามาทำการเพาะฟัก และการปล่อยลูกเต่าในเทศกาลและสถานที่ต่าง ๆ แต่ในทางตรงข้ามในการดำเนินการลักษณ์นี้ ถ้าไข่เต่าทะเลส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ เช่น การนำลูกเต่าทะเลไปปล่อยในแหล่งต่าง ๆ ก็จะมีโอกาสสูงจะเกิดการกระทบกระเทือนต่อประชากรเต่าทะเลในธรรมชาติ โดยหลักการแล้วควรให้ไข่เต่าทะเลประมาณ 50-70% ได้มีการฟักตัวเกิดและกลับสู่ทะเลตามธรรมชาติ แต่มีหลายแห่งชาวบ้านหรือชาวประมงท้องถิ่น ขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ จึงไม่สามารถปล่อยให้เต่าทะเลเพาะฟักในธรรมชาติได้ จำเป็นต้องเก็บไข่เต่ามาฟัก

..........การอนุรักษ์เต่าทะเล จะกระทำประเทศใดประเทศหนึ่งจะได้ผลเต็มที่ จะต้องมีการร่วมมือกันในระหว่างประเทศหรืออย่างน้อยต้องมีการประสานงานกันในระดับภูมิภาค เพราะเต่าทะเลเป็นสัตว์ที่มีการโยกย้ายถิ่น แหล่งอาหาร แหล่งอาศัยที่กว้างไกล


มาตรการการอนุรักษ์เต่าทะเล

..........บทบาทด้านการอนุรักษ์เต่าทะเลส่วนใหญ่จะอยู่กับทางราชการ โดยเฉพาะแต่เมื่อมีกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขยายตัวไปกว้างขวาง ชุมชน องค์การพัฒนาเอกชนก็เริ่มเข้ามามีบทบาททางด้านนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น การดำเนินงานการอนุรักษ์เต่าทะเลไทย จำเป็นต้องมีการควบคุมและจัดการประชากรเต่าทะเลในธรรมชาติ ควบคู่กันกับการด้านกฎหมายและประชาสัมพันธ์


มาตรการอนุรักษ์เต่าทะเล ประกอบด้วย

..........1. เพิ่มมาตรการคุ้มครองป้องกันการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล พยายามตรวจตราแหล่งวางไข่เต่าทะเล โดยร่วมมือกันกับชุมชนในท้องถิ่นโดยการจัดตั้ง "กลุ่ม" หรือ "ชมรม" การอนุรักษ์เต่าทะเลและสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้น โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาไข่เต่าทะเลไว้ให้ได้และให้มีการเพาะฟักขยายพันธุ์ในธรรมชาติให้มากที่สุด โดยการแต่งตั้งให้เป็นอาสาสมัครอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เพื่อช่วยทางราชการในการป้องกันผู้ลักลอบเก็บไข่เต่าทะเลไปขาย ตลอดจนรณรงค์งดการบริโภคไข่เต่าทะเล เพื่อลดการทำลายไข่เต่าทะเลในธรรมชาติ

..........2. ป้องกันการล่าเต่าทะเลเพื่อนำเนื้อเต่าทะเลมาบริโภค ซึ่งมีอยู่ในหลายประเทศ ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่นิยมบริโภคเนื้อเต่าทะเลโดยเฉพาะชาวเล (ไทยใหม่) เจ้าหน้าที่ต้องพยายามไปตรวจตราตามแพปลาใหญ่ ๆ เพราะแพปลาเป็นแหล่งขายเนื้อเต่าทะเลแหล่งใหญ่ที่สุด

..........3. เข้มงวดตรวจตราร้านค้าที่ขายกระดองเต่าทะเลสตัฟฟ์หรือนำกระดองเต่าทะเลมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับต่าง ๆ

..........4. ป้องกันแหล่งขึ้นวางไข่เต่าทะเลบนชายหาด ไม่ให้ถูกทำลายมากกว่านี้ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยว ซึ่งจำเป็นต้องสร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มีแสงไฟและมีผู้คนพลุกพล่าน หาทางฟื้นฟูแหล่งวางไข่เต่าทะเลให้คงสภาพเหมาะสมที่เต่าทะเลจะขึ้นวางไข่ต่อไป

..........5. เข้มงวดตรวจตราการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการทำการประมงอวนลาก อวนรุน ในระยะ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง นอกจากเป็นการทำลายเต่าทะเลโดยตรงแล้ว การลากอวนยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเต่าทะเลอีกด้วย เห็นสมควรมีการปราบปรามการประมงที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง และควรกำจัดเครื่องมืออวนลากให้มีจำนวนให้เหมาะสมกับจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำสำหรับอวนรุนไม่ควรให้มีอีกต่อไป

..........6. ป้องกันแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเต่าทะเล พยายามรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของเต่าทะเลให้คงสภาพสมบูรณ์ โดยทั่วไปแล้ว ได้แก่ บริเวณชายฝั่งแนวปะการัง, หญ้าทะเล เป็นต้น

..........7. อบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติให้เข้าใจมาตรการการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490, พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เป็นต้น และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์เต่าทะเลอย่างจริงจังและจริงใจ

..........8. จัดอบรมนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ชาวประมงและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลของไทย เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เต่าทะเล ให้เกิดแรงร่วมมือร่วมใจช่วยกันอนุรักษ์เต่าทะเลให้ได้ผล

..........9. การประชาสัมพันธ์ การรณรงค์ต่าง ๆ โดยการทำแผ่นพับ โปสเตอร์ จุลสารต่าง ๆ โดยความร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน

..........10. การจัดงานปล่อยลูกเต่าทะเล พร้อมกับจัดนิทรรศการเผยแพร่เรื่องเต่าทะเล เป็นวิธีการส่งเสริมการอนุรักษ์ที่ได้ผลทางหนึ่ง การปล่อยลูกเต่าทะเลเป็นการให้ประชาชนโดยทั่วไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทางหนึ่ง คนไทยมีความเชื่อตามขนบธรรมเนียมประเพณี ว่าการปล่อยสัตว์น้ำเป็นการให้ชีวิตใหม่ จะได้บุญกุศลมากและมีอายุยืนยามเหมือนเต่า อีกประการหนึ่งเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนและเอกชนหันมาช่วยกันอนุรักษ์เต่าทะเลให้เหลือไว้เป็นสมบัติของธรรมชาติและประเทศสืบไป
..........ส่งเสริมให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดงานปล่อยเต่าทะเล เช่น จังหวัดภูเก็ต มีกลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาว ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จัดพิธีปล่อยเต่าทะเล ขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ หรือวันประมงแห่งชาติ ณ บริเวณชายทะเลหาดไม้ขาว นอกจากนี้โรงแรมในเครือลากูน่า กรุ๊ป ตำบลบางเทา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ก็มีการจัดงานปล่อยเต่าทะเลทุก ๆ ปีเช่นเดียวกัน

..........11. รักษาประเพณี "การเดินเต่า" ของคนภูเก็ต - พังงา เอาไว้ ชายหาดบริเวณจังหวัดภูเก็ต พังงา เต่าทะเลจะขึ้นวางไข่ ประมาณเดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ ของทุกปี
..........การเดินเต่า คือ การออกไปเดินชายหาดที่มีเต่าทะเลขึ้นวางไข่ในตอนกลางคืนโดยเฉพาะคืนเดือนมืดเป็นคณะเป็นกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อเป็นการจัดกิจกรรมให้ประชาชนได้มีโอกาสร่วมโครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกับทางราชการอีกด้วย ในปัจจุบันชายหาดที่มีการเดินเต่าทะเล ได้แก่ หาดไนยาง และหาดท้ายเหมือง แต่โอกาสที่จะได้เห็นเต่าทะเลคลานขึ้นมาวางไข่มีน้อยมาก เพราะหาดทรายถูกรบกวน จำนวนเต่าก็มีน้อย

..........12. จัดสัมมนาในหัวข้อ "แนวทางการอนุรักษ์เต่าทะเล" โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กรมประมง กรมป่าไม้ กองทัพเรือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม กลุ่ม, ชมรมอนุรักษ์ฯ และองค์กรเอกชนต่าง ๆ เพื่อมาระดมความคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเล

..........13. ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเลให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน โดยเฉพาะพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งใช้มาเป็นเวลานาน และได้แก้ไขเพียง 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2528 เท่านั้น มีการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดเพียงเล็กน้อย ทำให้ประชาชนไม่เกรงกลัว หรือขาดความเคารพต่อกฎหมาย

..........14. ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์เต่าทะเลแก่องค์กรเอกชนต่าง ๆ ให้มากขึ้น ได้แก่ กลุ่ม หรือชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือมูลนิธิที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันองค์กรเอกชนเหล่านี้มีบทบาทด้านการอนุรักษ์มาก



การอนุรักษ์เต่าทะเลในประเทศไทย


..........เต่าทะเล ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีคูณค่าและประโยชน์มากมายหลายด้านทั้งการอุปโภค บริโภค ส่วนต่างๆนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่นทำเครื่องประดับ เครื่องหนัง และด้วยเหตุนี้เองทำให้เต่าทะเลถูกจับนำมาใช้ประโยชน์ จนทำให้เต่าทะเลลดลง และอาจจะสูญพันธุ์ในไม่ช้า ดังนั้น จึงต้องมีการอนุรักษ์ขึ้น


..........1. ฟาร์มเต่าทะเล
....................การทำฟาร์มเต่าทะเลได้มีการดำเนินงานมากว่า 70 ปีแล้ว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร พ.ศ.2514 ได้มีการทดองเลี้ยงเต่าในห้องทดลอง และได้มีการริเริ่มจัดตั้งฟาร์มเต่าทะเลเพื่อการอนุรักษ์ในปี 2522 โดยสมเด็จพระนางเจ้าๆ พระบรมราชินีนาถ ณ สถานีอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล เกาะมันใน จ. ระยอง

..........2. สภาพการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในประเทศไทย
....................ในประเทศไทย ได้มีการเก็บไข่เต่าทะเลเพื่อการบริโภคมาเป็นเวลานาน ในส่วนของการทำประมงก็มีข้อห้าม โดยประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามความในมาตรา 32(7)แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 วันที่14 เมษายน พ.ศ.2490คุ้มครองเอาไว้ กล่าวคือ ห้ามจับ ดัก ล่อ ทำอันตราย และฆ่าเต่าทะเลทุกชนิดรวมทั้งไข่ของเต่าทะเล ผู้ใดฝ่าฝืนต้องจำคุกไม่เกิน 1ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประเทศไทยก็ยังลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศของสัตว์ป่าและพืชป่าที่กลังจะสูญพันธุ์ (CITES)

..........3. การควบคุมการใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์จากเต่าทะเล แบ่งออกได้ 3 ประเภท
....................3.1 การค้า โดยการห้ามมาตรการหยุดยั้งการค้าจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากเต่าทะเล

....................3.2 ควรส่งเสริมให้ชาวทะเลทำประมงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเต่าทะเล และให้ความรู้ควบคู่กัน ไป

....................3.3 การทำฟาร์มเต่าทะเล ทั้งทางภาครัฐและเอกชน

..........4. เต่าทะเลที่ติดอวนขณะทำการประมง
ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญต่อการลดลงของจำนวนเต่าทะเล จะต้องจัดการในเรื่องนี้คือ
....................4.1 จัดตั้งเขตห้ามทำการประมง
....................4.2 พัฒนาเครื่องมือและเทคนิคการทำการประมง เพื่อลดการติดมาของเต่าทะเลในการทำประมง
....................4.3 ควรจัดการพิจารณาปัญหา และจัดการระเบียบและข้อบังคับขึ้น
....................4.4 ควรยุติความพยายามใดที่จะอาศัยการทำการประมงเพื่อจับเต่าทะเลในธรรมชาติ

..........5. การวิจัย
ในเรื่องของการวิจัยจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในเรื่องต่างๆ ดังนี้
....................5.1 การสำรวจและประเมินขนาดจำนวนของเต่าทะเลทุกชนิด
....................5.2 ความรู้พื้นฐานด้านชีววิทยา และชีววิทยาการแพร่พันธุ์ของเต่าทะเลทุกชนิด
....................5.3 เทคนิคในการจัดการ มีสิ่งที่สำคัญคือ การทดสอบมาตรการที่ได้ผลในการเพิ่มจำนวน

..........6. ยุทธวิธีในการอนุรักษ์เต่าทะเลของโลก
....................David Ehrenfeld ได้เสนอวิธีการอนุรักษ์เต่าทะเลของโลก พร้อมทั้งแผนการปฏิบัติการ และโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลของโลก ในการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเล ณ กรุงวอชิงตัน ระหว่าง 26-30 พฤศจิกายน 2522


นโยบายอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล


..........1. การป้องกันถิ่นที่อยู่อาศัย


..........2. การจัดการทรัพยากรเต่าทะเล
....................-การให้การศึกษาเกี่ยวกับการอนุรักษ์เต่าทะเล กระทำโดยเผยแพร่มาตรการอนุรักษ์ที่ได้ผลให้แต่ละประเทศทราบ เพื่อที่ในแต่ละประเทศจะได้นำไปใช้เป็นนโยบายในการปฏิบัติ
....................- ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
.................... - การใช้ไมโคชิพในการติดตามเต่าทะเล
....................- เครื่องมือแยกเต่าทะเลในการทำประมงทะเล เพื่อแยกเต่าทะเลที่จะติดมาในการทำประมง

ไม่มีความคิดเห็น: